HOUSE • RUEAN
Architect • INchan atelier
Year • 2023
City • Chiang Rai
Country • Thailand
Photographer • Peerapat Wimolrungkarat















โจทย์ :
บ้านสำหรับคู่สามีภรรยาที่ตั้งใจจะไม่มีลูก ซึ่งหมายถึง บ้านที่พร้อมสำหรับคนสองคนที่ดูแลกันและกันทุกช่วงเวลา เมื่อยามแข็งแรง เมื่อยามเจ็บป่วย และเมื่อยามแก่เฒ่า โดยต้องรองรับวิถีชีวิตแบบรักสันโดษ รักการอ่าน ชื่นชอบการเดินทางท่องโลกมีความช่างฝัน และหมั่นฝึกตนปฏิบัติธรรม
แนวคิด :
ต้องการให้บ้านได้ความรู้สึกถึง “เสน่ห์ของชีวิตบ้านๆ” บ้านที่ไม่ใช่บ้านแบบคนเมือง ไม่ต้องเน้นเก๋ไก๋ ไม่ต้องกังวลการรบกวนจากเพื่อนบ้าน แต่เป็นบ้านที่สะท้อนชีวิตคนเชียงราย บ้านที่เน้นความเป็นที่เป็นทาง และบ้านที่ทำตัวกลมกลืนกับเพื่อนบ้าน กล่าวคือ ชีวิตที่สุขด้วยบรรยากาศท้องถิ่น สัมผัสของดิน ลม ฝน แดด ที่อยู่ใกล้ตัวบ้านมากๆ บ้านที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยอยากเปิดหน้าต่างมากๆ อยากเดินออกจากบ้านไปอยู่ใต้ชายคาบ่อยๆ
แนวทาง :
1. ศึกษาระบบ “เรือน” เพื่อนำมาปรับใช้สำหรับการออกแบบ
เรือน คือระบบอาคารพื้นฐานเดิมของไทย โดยเรือนในแต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างไปตามวิถีชีวิตของแต่ละสังคม เรือนทางเหนือก็มีสิ่งที่น่าสนใจในหลายๆแง่มุม อาทิ สัดส่วนตัวเรือน รูปร่างหน้าตา ระบบโครงสร้าง ลักษณะวัสดุและเทคนิกการก่อสร้าง ประโยชน์ใช้สอยที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ ตลอดจนความรู้สึก หนักแน่น อ้วนล่ำ สัมผัสของพื้นผิว และอารมณ์ของสีแสง
2. นำเสนอขนาดพื้นที่ภายในบ้านที่เอาแค่พอดีใช้ แต่สร้างความรู้สึกให้เชื่อมออกไปสู่พื้นที่ส่วนภายนอกบ้านด้วยการมีชายคาออกไปปกคลุม หรือมีทางเดินที่ออกจากบ้านได้หลายทาง
ข้อสรุปเพื่อการออกแบบ :
1. แบ่งบ้านเป็น 2 เรือน คือ เรือนเจ้าของกับเรือนแขก โดยทั้งสองเรือนหันด้านข้างให้กัน และมีองค์ประกอบสำคัญเชื่อมโยงกันคือ
– ลานกลางภายนอก ลานคือพื้นที่เว้นว่างระหว่างเรือน โดยพื้นที่ลานจะเป็นเหมือนส่วนขยายของพื้นที่ห้องชั้นล่าง ประกอบกับการลงต้นไม้ประธานไว้ในนี้เพื่อเชื่อมโยงบรรยากาศความต่อเนื่องระหว่างชั้นล่างและบน
– ทางเชื่อมภายใน โดยทางเดินนี้เป็นเหมือนสะพานระหว่างเรือน ที่นอกจากจะใช้สัญจรภายในแล้วยังทำหน้าที่เป็นทางเข้าหลัก, เป็นจุดสังเกตสถานการณ์รอบบ้าน, และเป็นเฉลียงดูดาวของเจ้าของบ้าน
2. จัดสรรความรู้สึกของบ้านออกเป็น
– ชั้นล่างฝั่งเรือนเจ้าของให้มีลักษณะโปร่งขาวสว่าง เน้นเปิดออกรอบด้านเสมือนเป็นใต้ถุนโล่งของเรือนสมัยก่อน สร้างความรู้สึกขยายออกด้วยการยื่นระแนงชายคาไปหาสวน
– ชั้นบนปรับให้ดูหนักแน่น กำยำ ดูเป็นตัวเรือน โดยด้านที่หันออกบ้านให้เปิดน้อย แต่ด้านที่หันเข้าลานให้เปิดมาก
3. เลือกเน้นเส้นสาย สี และลักษณะพื้นผิว เพื่อแสดงบทบาทของเสา คาน พื้น ผนังและหลังคาอย่างชัดเจน จัดการรูปร่างให้เห็นความเป็นเรือนแต่ละหลังที่แยกจากกัน จัดการการแบ่งพื้นที่ออกจากกันเป็นห้องๆ (Room Type Organization) ซึ่งจะไม่เหมือนกับองค์ประกอบศิลป์ของงานสมัยใหม่ที่เน้นแบบการผสมผสานกันของรูปทรงและพื้นที่ว่างให้ต่อเนื่องลื่นไหล (Space Type Organization)
Architecture Office • INchan atelier, Bangkok TH
Contact • +66853667414
www.inchan-atelier.com